การปล่อยสิ่งมีชีวิตตัดต่อพันธุกรรมออกสู่ระบบนิเวศอันซับซ้อนถือเป็นการทดลองที่เป็นอันตรายต่อธรรมชาติและวิวัฒนาการ
นักวิทยาศาสตร์ด้านพันธุกรรมกำลังดัดแปลงชีวิตโดยการตัดต่อพันธุกรรม ผลผลิตที่ได้ คือ สิ่งมีชีวิตที่ไม่สามารถมีวิวัฒนาการโดยธรรมชาติ และไม่สามารถอาศัยในถิ่นที่อยู่ธรรมชาติ
สิ่งมีชีวิตที่มนุษย์สร้างขึ้นเหล่านี้สามารถผสมพันธุ์และผสมข้ามสายพันธุ์กับสิ่งมีชีวิตธรรมชาติ ดังนั้นจึงแพร่กระจายไปยังสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ และสิ่งมีชีวิตรุ่นต่อไปในวิธีที่คาดการณ์และควบคุมไม่ได้ เนื่องจากเรามีความรู้เพียงเล็กน้อยว่าสิ่งมีชีวิตใหม่เหล่านี้จะมีปฏิกิริยาในสิ่งแวดล้อมใหม่อย่างไร และเนื่องจากสิ่งมีชีวิตเหล่านี้สามารถทวีคูณและแพร่กระจายออกไป ดังนั้นเราอาจพบผลกระทบอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากสิ่งมีชีวิตตัดต่อพันธุกรรมเหล่านี้เมื่อสายเกินไป
ด้วยเหตุผลดังกล่าว สิ่งมีชีวิตตัดต่อพันธุกรรม (GMOs - genetically modified organisms) จึงต้องไม่ถูกปล่อยออกสู่สิ่งแวดล้อม เนื่องจากเป็นอันตรายอย่างยอมรับไม่ได้ต่อระบบนิเวศ และคุกคามความหลากหลายทางชีวภาพ พืชและสัตว์ป่า และการเกษตรแบบยั่งยืน
สิ่งมีชีวิตตัดต่อพันธุกรรมเป็นภัยคุกคามต่อความหลากหลายของพืชผลความหลากหลายทางพันธุกรรมของพืชผลสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาอย่างต่อเนื่องของพืชผลสายพันธุ์ต่างๆ ที่สามารถต้านทานแมลงรบกวนและโรคชนิดใหม่ๆ และสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมที่กำลังเปลี่ยนแปลง ดังนั้นความหลากหลายทางพันธุกรรมของพืชผลจึงจำเป็นอย่างยิ่งต่อความมั่นคงทางอาหารทั่วโลก อันที่จริงการขาดความหลากหลายทางพันธุกรรมได้เคยทำให้เกิดโรคระบาดในพืชผลครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของมนุษย์
พืชจีเอ็มโอซึ่งใส่ยีนต่างๆ เข้าไปอย่างผิดธรรมชาติ เช่น ยีนต้านทานยาปฏิชีวนะ ยีนจากเชื้อโรคที่ผลิตสารพิษ ยีนซึ่งทำให้พืชต้านทานยาปราบวัชพืช ยีนในไวรัสโรคด่างในพืช (cauliflower mosaic virus; CaMV) ฯลฯ สามารถแพร่กระจายไปสู่พืชพื้นเมืองอื่นๆ ที่เป็นพืชชนิดเดียวกัน หรือพืชชนิดอื่นที่มีลักษณะทางพันธุกรรมใกล้เคียงกัน โดยที่เราไม่อาจควบคุมได้
ตัวอย่างเช่น รายงานการแพร่กระจายของเกสรข้าวโพด โดย Dr. Jean Emberlin ที่นำเสนอต่อ ปฐพีสมาคม (Soil Association) ประเทศอังกฤษ พบว่าเกสรของข้าวโพดนั้นสามารถแพร่กระจายไปได้ไกลมากกว่าที่เราคาดคิด เช่น ในสภาพอากาศปกติสามารถพบละอองเกสรของข้าวโพดส่วนมากตกอยู่ในระยะ 1 เมตรจากแปลง และห่างจากแปลง 60 เมตรพบละอองเกสร 2% ไกลออกไป 200 เมตร พบเกสร 1.1% และแม้แต่ที่ซึ่งไกลออกไปถึง 500 เมตร ยังพบละอองเกสรมากถึง 0.5 % - 0.75 % ซึ่งเพียงพอที่จะทำให้เกิดการผสมข้ามพันธุ์ได้โดยง่าย
ยิ่งไปกว่านั้น ในวันที่ลมแรง ซึ่งทำให้เกสรข้าวโพดปลิวไปกับพาหะต่างๆ อาจพบว่าเกสรข้าวโพดสามารถเดินทางไปได้ไกลถึง 180 กิโลเมตร (อายุของเกสรข้าวโพดที่มีขีดความสามารถในการผสมพันธุ์ได้ คือ 24 ชั่วโมง) งานศึกษาของเครือข่ายองค์กรสิ่งแวดล้อม “เพื่อนโลก” (Friends of the Earth)ร่วมกับ สำนักงานสิ่งแวดล้อมแห่งรัฐบาลกลางออสเตรีย ซึ่งศึกษาพืชน้ำมันเรพ (oilseed rape) พบละอองเกสรของพืชดังกล่าวตั้งแต่ระยะ 500 เมตรจนถึง 4.5 กิโลเมตร ทั้งๆ ที่รัฐบาลกำหนดระยะห่างระกว่างการปลูกเรพตัดต่อพันธุกรรมกับเรพทั่วที่เพียง 50 เมตรเท่านั้น
การอนุญาตให้นำพืชตัดต่อพันธุกรรมนำเข้ามาปลูกในประเทศ เช่น ข้าวโพดและฝ้าย ถือว่าเป็นการทำลายพืชพันธุ์ท้องถิ่นของไทยอย่างยากที่จะควบคุมได้ พันธุ์พืชพื้นเมืองที่เกษตรกรได้คัดเลือก พัฒนา และ ใช้ประโยชน์มายาวนานนับร้อยนับพันปีหลายชนิดจะไม่หลงเหลือให้เห็นอีกต่อไป ข้าวโพดเทียนจะกลายเป็นข้าวโพดบีที ข้าวโพดราวด์อั๊พ ข้าวพื้นเมืองพันธุ์ดีของไทยก็จะมียีนบีที ยีนต้านทานราวด์อั๊พ เข้าไปผสมอยู่ นี่เป็นการทำลายความหลากหลายทางชีวภาพของเรา
ข้าวโพดตัดต่อพันธุกรรมพันธุ์ซีบ้า เกกี้ |
เมื่อพ.ศ. 2513 ผลิตผลข้าวโพดในตอนใต้สหรัฐอเมริกาถูกคุกคามโดยโรคที่เรียกว่าการเหี่ยวแห้งตายของใบข้าวโพดตอนใต้ และเนื่องจากข้าวโพดพันธุ์ต่างๆ มีลักษณะทางพันธุกรรมเหมือนกันทั่วทั้งสหรัฐอเมริกา ทำให้ความสูญเสียจากโรคนี้รุนแรงมาก โดยสูญเสียการเก็บเกี่ยวไป 15% ซึ่งในขณะนั้นมีมูลค่าประมาณ 1 พันล้านบาท
แจ็ค ฮาร์ลาน นักพฤกษศาสตร์ กล่าวว่า “ความหลากหลายทางพันธุกรรมเป็นสิ่งที่ดำรงอยู่ท่ามกลางพวกเรา ซึ่งหากปราศจากมันเราจะต้องประสบกับหายนะแห่งความอดอยากหิวโหยในระดับที่เราไม่สามารถจินตนาการได้"
บริษัทจำหน่ายเมล็ดพืชตัดต่อพันธุกรรมคุกคามชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรนอกจากความหลากหลายทางชีวภาพจะถูกคุกคามแล้ว บริษัทเทคโนโลยีชีวภาพยักษ์ใหญ่ยังทำให้เกษตรกรต้องจ่ายเงินค่าสิทธิพิเศษในการใช้สิ่งมีชีวิตที่มนุษย์สร้างขึ้นเหล่านี้ เกษตรกรในทางเหนือของสหรัฐอเมริกาและในละติน อเมริกา ที่ซึ่งมีการทำเกษตรกรรมพืชตัดต่อพันธุกรรมมากที่สุดในโลก ต้องลงนามในสัญญาที่กำหนดว่าหากพวกเขาเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้เพื่อปลูกในปีถัดไป หรือใช้ยากำจัดวัชพืชที่ไม่ใช่ของบริษัทนั้นๆ เกษตรกรเหล่านั้นมีแนวโน้มที่จะถูกฟ้องร้อง
ตัวอย่างของประเทศไทย เช่น การที่กรมวิชาการเกษตรลงนามในบันทึกความเข้าใจเรื่องมะละกอจีเอ็มโอร่วมกับมหาวิทยาลัยคอร์แนลของสหรัฐอเมริกา เพื่อตกลงเรื่องส่วนแบ่งผลกำไรจากการค้ามะละกอจีเอ็มโอ ซึ่งอาจทำให้มีการปนเปื้อนมะละกอจีเอ็มโอเกิดขึ้น ส่งผลให้ประเทศไทยสูญเสียตลาดส่งออกทั่วโลกที่ไม่ยอมรับผลผลิตจีเอ็มโอ นอกจากนี้สิทธิบัตรมะละกอจีเอ็มโอนั้นเป็นสิทธิบัตรร่วมกันกับมหาวิทยาลัย ทำให้เกษตรกรจะต้องจ่ายค่าสิทธิบัตรให้แก่สถาบันต่างชาติทั้งๆ ที่ไม่ควรจะจ่าย
อย่างไรก็ตาม ในขณะที่ผู้บริโภคและเกษตรกรได้ตระหนักเพิ่มขึ้นและเคลื่อนไหวทั่วทั้งโลก ภัยคุกคามจากพืชตัดต่อพันธุกรรมและเกษตรกรรมเชิงอุตสาหกรรมก็สามารถถูกหยุดยั้งได้
ทีมา
http://www.greenpeace.org/seasia/th/campaigns/gmos/ge-agriculture-genetic-pollution
ความคิดเห็น